วันพุธที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2552

การพัฒนาเทคโนโลยีที่ไม่หยุดยั้ง
การพัฒนาเทคโนโลยีที่ไม่หยุดยั้งทั้งทางด้านเทคโนโลยีการประมวลผล ซอฟต์แวร์เทคโนโลยีทางด้านการแพทย์ลาธารณสุขมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับการให้บริการผู้ป่วยและการจัดการบริหารงานของระบบโรงพยาบาลและสาธารณสุขจวบจนวันนี้ เทคโนโลยีทางการแพทย์ไม่เพียงจำกัดแค่การให้บริการในวงการแพทย์ สาธารณสุข และโรงพยาบาลอีกต่อไป แต่เทคโนโลยีทางการแพทย์ได้เข้ามามีบทบาทที่สำคัญทำให้ประชาชนและผู้ป่วยสามารถเข้าถึงข้อมูลทางการแพทย์สาธารณสุข รวมทั้งใช้บริการสาธารณสุขจากที่บ้านโดยไม่ต้องเดินทาง

เพียงแค่คลิกคอมพิวเตอร์ที่บ้าน หรือแค่นอนพักผ่อนที่บ้าน คอมพิวเตอร์ที่อยู่รอบๆ ตัวคุณก็สามารถตรวจเช็คสุขภาพของคุณโดยที่คุณไม่รู้ตัวและสามารถส่งข้อมูลสุขภาพไปยังแพทย์เจ้าของไข้ หรือตรวจโรคผ่านระบบ ออนไลน์ สิ่งเหล่านี้จะไม่ใช่เรื่องไกลตัวเราอีกต่อไป เมื่อบริษัทผู้พัฒนาซอฟต์แวร์และแอพพลิคเคชั่นต่างๆ หันมาพัฒนาเทคโนโลยีทางการแพทย์และสาธารณสุขเพื่อตอบสนองชีวิตประจำวันของมนุษย์มีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีแพทย์ทางไกลมาให้บริการผู้ป่วย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการรักษาพยาบาล

บริการสุขภาพสู่ยุค Health 3.0 สำหรับการพัฒนาเทคโนโลยีทางการแพทย์และสาธารณสุขหรือ Health Information evolution นั้น ในปัจจุบันได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีมารองรับวงการแพทย์และสาธารณสุขอย่างต่อเนื่อง จนถึงปัจจุบันการพัฒนาเทคโนโลยีของวงการแพทย์และสาธารณสุขมีทั้งสิน 3 ยุค ด้วยกัน

โดยยุคแรก เริ่มจากการพัฒนาระบบ Health 1.0 ซึ่งเป็นการจัดเก็บข้อมูลคนไข้ ให้อยู่ในรูปของเอกสารซึ่งเอกสารทุกอย่างจะอยู่ที่โรงพยาบาลในลักษณะที่เป็น Physical centric ขณะที่ยุคที่ 2 เป็นยุค Health 2.0 เป็นการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาช่วยในการเก็บข้อมูลคนไข้ในลักษณะเป็นเวชทะเบียนอิเล็กทรอนิกส์และเวชทะเบียนส่วน บุคคล (Electronics Medical Records & Personal Health Records) รวมถึงการนำเทคโนโลยีมาช่วยในการจัดการและการบริหารงานในโรงพยาบาลและสาธารณสุข มีการเข้าถึงข้อมูลได้ตลอดเวลา สำหรับประเทศไทยอยู่ในช่วงของการโอนถ่ายการใช้เทคโนโลยี มาสู่ Health 2.0

อย่างไรก็ตาม จากการพัฒนาเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง ทำให้วงการแพทย์มีการพัฒนาเข้าสู่ยุค Health 3.0 ซึ่งเป็นการพัฒนาเทคโนโลยีมาช่วยในการรักษาพยาบาลและช่วยจัดการบริหารงานที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทำให้การบริการทางการแพทย์มุ่งสู่การให้บริการปัจเจกชน โดยผู้ป่วยเป็นศูนย์กลางของการดูแลรักษาสุขภาพ หรือ Patient centric ที่การรักษาพยาบาลรวมถึงการจ่ายยาสามารถทำได้เฉพาะผู้ป่วยแต่ละราย
ไมโครซอฟท์ส่งเทคโนโลยีการตรวจสุขภาพที่บ้านออกสู่ตลาด บริษัท ไมโครซอฟท์ ถือเป็นหนึ่งในผู้พัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศทางด้านการแพทย์และสาธารณสุขอย่างต่อเนื่องโดยที่ผ่านมามีการต่อยอดการพัฒนาเทคโนโลยีโดยซื้อกิจการของบริษัทผู้พัฒนาซอฟต์แวร์และระบบสารสนเทศทางแพทย์และสาธารณสุข บริษัทโกลบอลแคร์ โซลูชั่นส์ (Global Care Solutions) ซึ่งเป็นบริษัทเอกชนที่ตั้งอยู่ในประเทศไทยและดำเนินกิจการเกี่ยวกับการพัฒนาระบบฐานข้อมูลสุขภาพระดับองค์กร

ทอม ไรอัน ผู้จัดการฝ่ายการตลาดอาวุโส Health Solutions Group บริษัทไมโครซอฟท์ กล่าวว่าไมโครซอฟท์เชื่อว่าประเทศไทยเป็นฐานที่ดีในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และการลงทุนในไทยจะช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศในภูมิภาคได้อย่างมาก ความพยามในการพัฒนาด้านการแพทย์และสาธารณสุขอย่างต่อเนื่องจะช่วยส่งเสริมวัตกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศ ช่วยสร้างงาน และพัฒนาทักษะใหม่ๆ ให้เกิดขึ้น

ไรอัน กล่าวว่า การพัฒนาอุตสาหกรรมการแพทย์ด้วยนวัตกรรมทางด้านไอทีนั้นจะช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนทางการแพทย์ในประเทศกำลังพัฒนา ดังนั้นไมโครซอฟท์จึงได้เข้ามามีบทบาทสำคัญต่ออุตสาหกรรมด้านนี้ เพื่อนำเทคโนโลยีมาช่วยลดขั้นตอนและเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการทางการแพทย์

ไมโครซอฟท์ได้พัฒนาระบบที่เรียกว่า ไมโครซอฟท์อมัลก้า (Amalga) ซึ่งเป็นระบบ Unified Intelligence ที่มีความยืดหยุ่นและความสามารถในการจัดการกับความต้องการข้อมูลทั้งในปัจจุบันและอนาคต ช่วยให้องค์กรด้านสาธารณสุขสามารถดำเนินกลยุทธ์เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลที่มีประสิทธิภาพในระยะยาว

นอกจากนี้บริษัทได้นำเสนอ Microsoft Health Solutions ใหม่เรียกว่า Health Vault ซึ่งเป็นเทคโนโลยีสำหรับเว็บไซด์เพื่อสุขภาพ ซึ่งเป็นแพล็ตฟอร์มแวร์และบริการที่ช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถจัดการและติดตามข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพส่วนบุคคล ภายใต้แนวคิด Patient centric

“แนวโน้มของเทคโนโลยีที่บริษัทให้ความสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ เทคโนโลยีแบบเคลื่อนที่นำมาใช้โดยผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ ปัจจุบันมีผู้ลงทะเบียนใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่ถึง 3 พันล้านคนทั่วโลกและยังคงมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องในอนาคต อุปกรณ์สื่อสารเคลื่อนที่จะเชื่อมโยงผู้เชี่ยวชาญ และขยายการให้บริการทางด้านสุขภาพให้เข้าถึงตัวคนไข้ในทุกที่ ทุกเวลาได้มากยิ่งขึ้น” ไรอัน กล่าวเสริม

การแพทย์ไทยยุคใหม่เน้นระบบแพทย์ทางไกล ยกระดับสาธารณสุขไทย เมื่อเทคโนโลยีได้เข้ามามีบทบาทต่อการให้บริการการแพทย์ ในประเทศไทยเองได้มีการนำเทคโนโลยีใหม่เข้ามาเสริม เพื่อยกระดับการให้บริการสาธารณสุขไทย โดยเฉพาะกับประชาชนผู้ที่อยู่ห่างไกล และเทคโนโลยีเครือข่ายและระบบการแพทย์ทางไกล นับว่าเข้ามามีส่วนสำคัญที่ทำให้การรักษาพยาบาลภายในประเทศเกิดความเสมอภาพและเท่าเทียมกัน

ยุทธ โพธารามิก รองเลขาธิการ มูลนิธิอาสาสมเด็จพระศรีนครินทร์ทราบรมราชชนนี (พอ. สว.) กล่าวว่า มูลนิธิอยู่ระหว่างการทดลองโครงการระบบการแพทย์ทางไกล เพื่อเป็นการให้คำปรึกษาและการสื่อสารระหว่างแพทย์ที่โรงพยาบาลประจำจังหวัดหรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด กับสถานีอนามัยทดลองใน 9 จังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือได้ และ ตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งมีสถานีอนามัยเข้าร่วมโครงการ ทดลอง 45 แห่งโดยโครงการดังกล่าวได้รับการสนับสนุนทั้งจากกระทรวงสาธารณสุข การสื่อสารแห่งประเทศไทย และบริษัท QualCom ซึ่งเป็นผู้จัดหาคอมพิวเตอร์โน้ตบุคให้กับแพทย์และสถานีอนามัย โดยโครงการดังกล่าวจะเริ่มดำเนินงานภายในปีนี้และจะใช้ระยะเวลาในการทดลองโครงการเป็นเวลา 2 ปี

“ผมคิดว่ามูลนิธิ พอ.สว. เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้การบริการสาธารณสุขพื้นฐาน (Primary healthcare) ให้กับประชาชนได้รับโอกาสในการเข้าถึงบริการสาธารณสุขมากขึ้นและการนำระบบการแพทย์ทางไกลมาใช้ยังเป็นทางเลือกในการให้บริการกับประชาชนอีกทางหนึ่งด้วย” ยุทธกล่าว

ไม่เพียงแต่มูลนิธิ พอ.สว. เท่านั้นศูนย์วิจัยและบำบัดโรคมะเร็ง สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ก็เป็นอีกหน่วยงานสาธารณสุขที่ได้นำเอาเทคโนโลยียุคใหม่เข้ามาช่วยเสริมบริการทางการแพทย์ให้มีความถูกต้องแม่นยำมากขึ้น โดยศูนย์ได้ร่วมมือกับศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ในการทำข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการวิจัยและพัฒนา ระบบการแพทย์ทาไกล ซึ่งในระยะแรกจะมุ่งเน้นการจัดทำระบบการแพทย์ทางไกล เพื่อสร้างเครือข่ายความเร็วสูงในการส่งผ่านภาพถ่ายจากเครื่อง PET-CT ไปยังแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่ออ่านผลและวินิจฉัยภาพถ่ายเซลล์มะเร็งผ่านระบบเครือข่าย ทั้งนี้เพื่อยกระดับมาตรฐานเทคโนโลยีทางการแพทย์และพัฒนาประสิทธิภาพของระบบการรักษาพยาบาลในประเทศ

ขณะที่ระบบการแพทย์ทางไกล มีการพัฒนาขึ้น การนำเทคโนโลยีการแพทย์สมัยใหม่มาใช้ยังคงมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และระบบที่เรียกว่า Medical Grid นับเป็นอีกก้าวของการพัฒนาเทคโนโลยีทางการแพทย์ไทย ทีจะทำให้การรักษาพยาบาลสามารถทำได้อย่างเต็มรูปแบบมากขึ้น


โดยเทคโนโลยี Medical Grid ดังกล่าว เป็นการพัฒนาระบบที่รวบรวมประสิทธิภาพของหน่วยประมวลผลส่วนที่เหลือ เพื่อมาใช้ประโยชน์และสร้างเป็นพลังประมวลผลที่มีความเร็วสูง โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการซื้อคอมพิวเตอร์แม่ข่ายหรือ Server ที่มีราคาสูงมาใช้ ทำให้ง่ายต่อการขยายระบบในอนาคต และเทคโนโลยีกริดนี้ทำให้เกิดการพัฒนาที่เรียกว่าองค์กรเสมือนหรือ Virtual organization ซึ่งทำให้การค้นหาและสืบค้นข้อมูลทำได้รวดเร็วยิ่งขึ้น

การนำเทคโนโลยีกริดมาใช้ในวงการแพทย์จึงเข้ามาช่วยแก้ปัญหาในเรื่องของการจัดเก็บข้อมูลคนไข้ที่กระจายในหลายๆ สถานพยาบาลทำให้การแลกเปลี่ยนข้อมูลของคนไข้ระหว่างโรงพยาบาลสามารถทำได้ง่ายขึ้น แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสามารถดึงประวัติคนไข้ แม้จะอยู่ต่างสถานพยาบาลกัน มาเป็นข้อมูลเพื่อทำการรักษาอย่างต่อเนื่องได้อย่างรวดเร็วและทันท่วงที

ขณะนี้มีความพยายามในการสร้างระบบเครือข่าย Medical Grid ซึ่งในประเทศไทยซึ่งหากโครงการดังกล่าวเกิดขึ้น จะทำให้ผู้ป่วยสามารถได้รับการรักษาพยาบาลที่มีความถูกต้องแม่นยำ สะดวก รวดเร็วด้วยความช่วยเหลือของเทคโนโลยียุคใหม่

ออราเคิลชี้ ไอทีเสริมการทำงานและลดต้นทุนบริการสุขภาพ เมื่ออุตสาหกรรมบริการสุขภาพของไทยตั้งเป้าหมายที่จะพัฒนาให้กลายเป็นศูนย์กลางบริการดูแลสุขภาพในภูมิภาคนี้ การปรับปรุงองค์กรให้โดดเด่นอยู่ในระดับแนวหน้า และรักษาความเป็นผู้นำ จำเป็นที่จะต้องอาศัยเทคโนโลยีเข้ามาเสริมความสามารถในการให้บริการด้านสุขภาพ

แดเนียล ซี. รัสเลอร์ รองประธานฝ่ายระบบข้อมูลทางคลินิก ออราเคิล คอร์ปอเรชั่น ให้ความเห็นว่า เพื่อให้ไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ การจัดการประสิทธิภาพขององค์กรอย่างเหมาะสมจะช่วยให้ผู้บริหารสามารถทำการตัดสินใจสำคัญๆ เกี่ยวกับโครงสร้างต้นทุน สถานะด้างการเงินโดยรวม และปรับปรุงบริการรักษาพยาบาลให้ดีขึ้น

“ฉะนั้นจึงจำเป็นต้องปรับใช้โซลูชั่นทางด้านเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานการบริหารจัดการด้านการเงิน การกำหนดโครงสร้างต้นทุน การรายงานเชิงวิเคราะห์และการผนวกรวมระบบ รวมถึงการปรับปรุงข้อมูลเชิงลึกด้านธุรกิจ และปรับปรุงการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่มีอยู่ เพื่อให้ธุรกิจอยู่รอดได้” รัสเลอร์กล่าว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น